วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550

การจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายอาชีพ

จาก เว็บไซต์ สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน

การจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายอาชีพ
การจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายอาชีพเป็นการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนมีอาชีพ หรือเห็นช่องทางการทำมาหากิน คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น มีความรู้ ทักษะ และเจตคติ ที่ดีในการทำงานเพื่อการประกอบอาชีพอิสระ อาชีพในตลาดแรงงาน หรือ เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและชุมชน รวมทั้งเพื่อเพิ่มวุฒิทางการ ศึกษาและการพัฒนาตนเองเกี่ยวกับหน้าที่การงาน โดยมีการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนดังนี้ 1. หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น 2 กลุ่มสนใจวิชาชีพ 3. หลักสูตรประกาศนียบัตรอาชีพ พุทธศักราช 2533 (ปอ.) 4. หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2539 (กศน.ปวช.)
หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น
หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นที่กรมการศึกษานอกโรงเรียนจัดให้บริการแก่ประชาชน เป็นหลักสูตรที่ใช้เวลาเรียนสั้น ๆ ตามลักษณะของเนื้อหาที่สามารถจบในตัวเอง มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาอาชีพ ประกอบอาชีพอิสระ และพัฒนาทักษะฝีมือ แรงงานเพื่อเข้าสู่ ตลาดแรงงาน เช่น การเพาะเห็ด ตัดผม แปรรูปผลผลิตการเกษตร ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อมโลหะ ช่างซ่อมจักรยาน วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น
กลุ่มสนใจวิชาชีพ
เป็นการจัดการศึกษาอาชีพให้แก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่สามารถจัดได้รวดเร็วเพื่อให้สามารถสนองความต้องการ และความสนใจ ของผู้เรียนได้ในทันที โดยมีการรวมกลุ่มผู้ที่สนใจในอาชีพเดียวกันมาเรียน กลุ่มหนึ่ง ๆ มีผู้เรียน 15 คนขึ้นไป มีระยะเวลาการเรียนไม่เกิน 30 ชั่วโมง โดยมีวิทยากรผู้มีความรู้ ความชำนาญ ในเรื่องนั้น ๆ เป็นผู้สอน (สมาชิกกลุ่มรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับวัสดุฝึก)
หลักสูตรประกาศนียบัตรอาชีพ พุทธศักราช 2533 (ปอ.)
หลักสูตรประกาศนียบัตรอาชีพ (ปอ.) เป็นหลักสูตรที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา สำหรับผู้จบระดับประถม ศึกษา (ป.6) แล้ว ให้มีโอกาสศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าสู่อาชีพ มีรายได้เกิดขึ้นระหว่าง เรียน หรือเรียนจากประสบการณ์ในอาชีพที่ประกอบอยู่ โดยผ่านกระบวนการทางการศึกษาจนได้ประกาศนียบัตรเทียบเท่า ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในระบบโรงเรียน
หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2539 (กศน.ปวช.)
เป็นหลักสูตร 3 ปี สำหรับผู้เรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนต้น และกำลังทำงานในสถานประกอบการ เพื่อมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ และมีทักษะวิชาชีพเฉพาะด้าน ตลอดจนมีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติทีดีต่อการประกอบอาชีพ ให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับการศึกษาของผู้เรียนให้สูงขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาทำงาน ผู้ที่เรียนจบหลักสูตรนี้จะได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบโรงเรียน สาขาวิชาที่เปิดสอนมี 17 สาขาวิชา คือ - คอมพิวเตอร์ธุรกิจ - การจัดการ - การโรงแรมและการท่องเที่ยว - ภาษาอังกฤษธุรกิจ - ธุรกิจและบริการอุตสาหกรรม - การดูแลเด็กและผู้สูงอายุ - ธุรกิจอาหาร - ผ้าและเครื่องแต่งกาย - ช่างยนต์ - ช่างอุตสาหกรรมเซรามิก - ช่างอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม - ช่างเชื่อมอุตสาหกรรม - ช่างกลโรงงาน - ช่างควบคุมงานก่อสร้าง - ช่างเขียนแบบก่อสร้าง - อิเล็กทรอนิกส์ - สาขาวิชาเกษตรศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น: