วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2550

วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร สร้างคน สร้างงานรับเศรษฐกิจ “อินโดจีน”

จากหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ฉบับที่ 19754 ประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2550

“...จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยข้อมูลระดับการศึกษาของประชากรไทยช่วงเดือนกันยายน 2549 พบว่า ประชากรไทย ประมาณ 65 ล้านคน มีพื้นฐานความรู้ระดับอุดมศึกษา เพียง 5,800,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 11.6 และเมื่อพิจารณาดูระดับการศึกษาของชาวมุกดาหาร ซึ่งมีประมาณ 375,000 คนนั้น พบว่ามีผู้สำเร็จระดับอุดมศึกษา เพียงร้อยละ 8.4 เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการศึกษาขั้นสูง ฉะนั้นจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่เรามิอาจมองข้าม...” นั่นคือหนึ่งในเหตุผลสำคัญ ของการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร (17 เมษายน 2547) ซึ่งเป็น 1 ใน 18 วิทยาลัยชุมชนทั่วประเทศ ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แหล่งเรียนรู้ในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี เพื่อรองรับและเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษา ด้วยหลักบริหารงานง่ายๆ คือ เปิดกว้างและเข้าถึง มีหลักสูตรหลากหลาย ตอบสนองต่อชุมชนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เน้นคุณภาพและการใช้ประโยชน์ ที่สำคัญคือเสียค่าใช้จ่ายน้อย ...จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของ วชช.มุกดาหาาร ของนายวรากรณ์ สามโกเศศ รมช.ศึกษาธิการ พร้อมคณะเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้รู้แจ้งว่า วิทยาลัยชุมชนฯแห่งนี้ เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียวของจังหวัด การเรียนการสอนนั้นเปิดกว้างทั้งวิชาการและวิชาชีพ เน้นให้สอดคล้องตามความต้องการของชุมชนเป็นหลัก มีทั้งหลักสูตรอนุปริญญา หลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรปรับพื้นฐานความรู้ โดยจัดการศึกษาทั้งในและนอกระบบ ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่น ที่พลาดโอกาสทางการศึกษาอย่างแท้จริง นายวิรุฬห์ ศุภกุล ประธานสภาวิทยาลัยชุมชนฯ พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า “ในช่วงเริ่มก่อตั้ง สกอ.มีส่วนช่วยพัฒนาหลักสูตรระดับอนุปริญญา ขึ้นมาเพื่อรองรับได้แก่การปกครองท้องถิ่น คอมพิวเตอร์ธุรกิจ การจัดการทั่วไป การศึกษาปฐมวัย การบัญชีและการพัฒนาชุมชน แต่เนื่องจากวันเวลาผ่านไปความจำเป็นของคนที่จะเรียนใน สาขาวิชาเหล่านี้เริ่มลดน้อยลง จึงส่งผลให้ต้องมีการปิดบางหลักสูตรลงไป เช่น หลักสูตรการพัฒนาชุมชน ซึ่งในปีการศึกษา 2550 ไม่มีนักศึกษาคนใดสมัครลงในสาขานี้เลย” ซึ่งนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้ วชช.มุกดาหาร จำต้องปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยในปีการศึกษา 2550 ได้มีการพัฒนาหลักสูตรธุรกิจระหว่างประเทศในกลุ่มอินโดจีน (การค้าชายแดน) ระดับอนุปริญญาขึ้น โดยความร่วมมือของหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผู้บริหารของแขวงสะหวันนะเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อพัฒนาบุคลากรในการจัดการธุรกิจ ให้เข้าสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจตามเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ในบริบทไทย-ลาว-เวียดนาม “ขณะนี้จัดทำหลักสูตรเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน (ระดับชาติ) แต่ในเบื้องต้นนี้ ทาง วชช.มุกดาหาร ได้จัดการเรียนการสอนเนื้อหาบางส่วนของหลักสูตร ในรูปแบบของหลักสูตรระยะสั้นให้แก่นักศึกษาที่สนใจไปบ้างแล้ว เพราะหลักสูตรระยะสั้นนี้สามารถเปิดสอนได้ทันที หลังได้รับการอนุมัติจากสภา วชช.มุกดาหาร” ผู้บริหารวิทยาลัยชุมชน กล่าวและว่า สำหรับผู้ที่เรียนจบหลักสูตรระยะสั้น สามารถนำความรู้มาเทียบโอนหน่วยกิตระดับอนุปริญญา ในสาขาธุรกิจระหว่างประเทศในกลุ่มอินโดจีน (การค้าชายแดน) ได้ และที่สำคัญคือหลักสูตรนี้ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากบริษัทไทย ที่ไปลงทุนในลาว และเวียดนาม พร้อมจะรับนักศึกษาที่จบหลักสูตรนี้เข้าทำงาน ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการในประเทศลาว ก็สนใจจะส่งบุคลากรเข้ามาเรียนด้วย ...ช่วยพัฒนารากแก้วรับเศรษฐกิจโต ขณะที่นายบุญสม พิรินทร์ยวง ผู้ว่าราชการ จ.มุกดาหาร กล่าวเสริมว่า วชช.มุกดาหาร มีบทบาทสำคัญมากในการพัฒนาและเสริมทักษะให้กับผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้านการบริการของจังหวัด หลังจากที่เปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 อย่างเป็นทางการ เพราะขณะนี้นักท่องเที่ยว เริ่มมีมากขึ้นจากเดิมเดือนละไม่เกิน 3,000 คน แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 12,000 คน “การเปิดหลักสูตรการค้าชายแดนจะช่วยเสริมได้มาก ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศในกลุ่มอินโดจีน ซึ่งจะมีเรื่องของการนำเข้าและส่งออกด้วย เพราะหลังจากที่ได้มีการเปิดสะพานฯ แล้ว การส่งออกก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 28 โดยเฉพาะเครื่องอุปโภคบริโภค ที่ประเทศอินโดจีนพึ่งพาอาศัยเราเป็นจำนวนมาก ฉะนั้น วชช.มุกดาหาร จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะมาต่อยอดจากพื้นฐานความรู้ที่ประชาชนมีอยู่แล้วให้มีมากขึ้นต่อไป เพื่อให้สมกับคำว่า “วิทยาลัยชุมชน พัฒนาคน พัฒนาท้องถิ่น” นอกจากหลักสูตรที่เชื่อมเศรษฐกิจอินโดจีน แล้วทาง วชช.มุกดาหาร ยังร่วมมือกับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พัฒนาหลักสูตรแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยสร้างความแตกต่างในการทำผลิตภัณฑ์ให้กับประชาชน ที่ทำการทอผ้า ซึ่งในอนาคตจะเป็นประโยชน์มากในการนำไปสู่การสร้างงานในการผลิต รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรธุรกิจการเกษตร โดยความร่วมมือจากคณะเกษตร มหาวิทาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น 100 ชั่วโมง และได้นำหลักสูตรดังกล่าวเข้ามาทดลองใช้กับประชาชนในพื้นที่หมู่บ้านสันติสุข 2 ของศูนย์พัฒนาสังคมที่ 42 ซึ่งคนในชุมชนต่างให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีโครงการพัฒนาศูนย์แห่งนี้เป็นแหล่งปลูกผักปลอดสารพิษ อีกด้วย ทั้งนี้ เมื่อประเมินถึงศักยภาพในการสร้างคน สร้างงานของ วชช.มุกดาหาร แล้วจะพบว่า สามารถผลิตบัณฑิตระดับอนุปริญญาไปแล้ว 972 คน หลักสูตรระยะสั้นมากกว่า 2,400 คน และพบว่าเมื่อจบหลักสูตรระดับอนุปริญญาแล้ว ร้อยละ 60 ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ส่วนเรื่องการมีงานทำ พบว่าร้อยละ 87 นำความรู้ที่ได้รับกลับไปพัฒนาอาชีพเดิมของตนเอง และร้อยละ 13 ทำงานใหม่ ส่วนของหลักสูตรระยะสั้นนั้นพบว่า สามารถช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น และที่ต้องจับตามองคือนักเรียนสายสามัญ ที่เริ่มมองเห็นอนาคตจากวิทยาลัยชุมชนเรียนในชุมชน มีอาชีพและมีงานทำทุกคน...เพื่อชุมชนเข้มแข็ง

แล้วสถาบันการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่คิดจะเปิดหลักสูตรการทำธุรกิจระหว่างประเทศบ้างหรือ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เองก็ติดกับประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ น่าจะเป็นโอกาสของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการเป็น"ประตูสู่"กลุ่มประเทศภูมิภาคมลายู

ไม่มีความคิดเห็น: