วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ศิลปะการป้องกันตัวซีละ หรือ ซีลัต





ซีละ คือ ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่มีลักษณะ การเตะ ถีบ ต่อย ลักษณะการร่ายรำ คือ จะมีผู้เล่นคนหนึ่งลุกขึ้นยืนตรง แล้วร่ายรำอย่างแข็งแรง ว่องไว มีการยกมือและยกเท้าเนิบ ๆ ช้า ๆ ปลายนิ้วของผู้เล่นจะสั่นระริก แล้วก็รำอย่างรวดเร็วสลับกันไป การเริ่มต้นอย่างนี้เรียกว่าไหว้ครู เมื่อจบแล้วอีกฝ่ายก็ลุกขึ้นรำบ้าง อาจจะคล้ายคลึงกัน หรือต่างกันบ้างก็อยู่ที่การฝึก การไหว้ครูจะมีดนตรีประกอบในจังหวะที่ช้า เครื่องดนตรี คือ ปี่ชวา กลองโทน 2 ตัว และฆ้อง เมื่อจบการไหว้ครูแล้ว ดนตรีจะเปลี่ยนจังหวะที่เร็วขึ้น และคู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่ายก็จะลุกขึ้นยืนห่างกัน ประมาณ 5 เมตร ต่างฝ่ายต่างร่ายรำสวนทางกัน ประมาณ 1 รอบ พอสวนกันอีกครั้งก็หันเข้าหากันและต่อสู้กัน มีการเตะต่อย ปล้ำกัน การต่อสู้จะดำเนินไป จนกว่าจะฝ่ายใดฝ่านหนึ่งจะพลั้งพลาดท่า กล่าวคือ การล้มหลังถึงพื้นถือว่าแพ้ ผู้ที่ไม่ล้มเลยจะเป็นผู้ชนะ สำหรับคู่หนึ่งจะแข่งขันต่อสู้กันประมาณ 5 นาที ซีละในยุคปัจจุบัน กลายเป็นการละเล่นประจำท้องถิ่น เมื่อมีงานในหมู่บ้านก็ดี การรับแขกบ้านแขกเมืองก็ดี งานแต่งงานหรืองานเข้าสุนัตก็ดี จะมีการเล่นซีละ สำหรับซีละที่ประกอบกริซนั้น ค่อนข้างจะหาดูได้ยาก เพราะเป็นเกมส์ที่อันตราย เสี่ยงชีวิต นอกจากว่าเป็นการแสดงที่ได้ตระเตรียมกันมานาน ซักซ้อมกันมาเป็นอย่างดีจึงจะแสดงให้ชมได้

ศิลปะการป้องกันตัวของชนชาวมลายูคือ Silat โดยศิลปะการป้องกันตัวชนิดนี้มีมาเป็นเวลานานแล้ว แม้แต่ที่ Borobodor ที่อินโดนีเซีย ก็ยังมีการแกะสลักศิลปะการป้องกันตัวของชนชาวมลายูไว้ นั้นแสดงว่า Silat ได้กำเนินขึ้นมาเป็นเวลานับร้อยพันปีมาแล้ว ลักษณะของศิลปะการป้องกันตัวที่เรียกว่า Silat นั้นมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ

1. Silat คือการเคลื่อนไหวของร่างกายในการป้องกันตัวจากการโจมตีของศัตรูหรือคู่ต่อสู้

2. Silap คือช่วงจังหวะลีลาที่จะใช้ในศิลปะการป้องกันตัว

3. Silau คือการตอบโต้ที่ใช้จากการป้องกันตัวที่ศัตรูหรือคู่ต่อสู้โจมตีตัวเรา

ดังนั้น ศิลปะการป้องกันตัว Silat สามารถที่จะกล่าวได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหว, ช่วงจังหวะและลีลา, การตอบโต้ที่ถูกมนุษย์สร้างขึ้นโดยเป็นระบบ เป็นระเบียบและละเอียดอ่อนในการป้องกันตัวจากการโจมตีของศัตรูและคู่ต่อสู้
ในการเรียนเกี่ยวกับศิลปะการป้องกันตัว Silat นั้น คนหนึ่งๆ มีการเรียนรู้ที่อยู่ในระดับที่แตกต่างกันตามความสามารถและประสิทธิภาพของแต่ละคน โดยปกติแล้วระดับความสามารถของศิลปะการป้องกันตัว Silat มีอยู่ 5 ระดับ คือ

1.ระดับ Mengetahvi Seni เป็นระดับที่รู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ช่วงลีลา ศิลปะการตอบโต้

2.ระดับBudaya Seni เป็นระดับการเรียนรู้วิถีชีวิตและคำสั่งการ พร้อมการเผยแพร่ศิลปะการป้องกันตัว Silat

3.ระดับ Bangsa Seni เป็นระดับการศึกษาเชิงลึกของศิลปะการป้องกันตัว และภูมิหลังของศิลปะการป้องกันตัว Silat

4.ระดับ Budi Pekerti Seni เป็นระดับการเรียนรู้ เข้าใจกฏระเบียบ และหลักเกณฑ์ของศิลปะการป้องกันตัว Silat

5.ระดับ Jiwa Seni เป็นระดับสร้างจิตสำนึกในศิลปะการป้องกันตัว Silat และศึกษาความเร้นลับของศิลปะการป้องกันตัว Silat

6.ระดับ Alam Seni เป็นระดับการเผยแพร่ศิลปะการป้องกันตัว Silat และสร้างหรือรักษากฏเกณฑ์ของศิลปะการป้องกันตัว Silat ให้อยู่ในจิตวิญญาณของนักศิลปะการป้องกันตัว Silat ทุกคน

ศิลปะการป้องกันตัว Silat มีการเคลื่อนไหว ช่วงลีลาการก้าว ลูกไม้ การหลีก การตอบโต้ การต่อย การถีบ การโจมตี ที่แตกต่างกันตามที่ครูศิลปะการป้องกันตัวต่างๆเป็นผู้คิดลูกไม้ของศิลปะการป้องกันตัว ดังนั้น ศิลปะการป้องกันตัว Silat จึงมีหลากหลายชื่อเช่น

1. Seni Silat Gayong
2. Silat Lincah เป็น 1 ใน 4 ของSilat ที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย
3. Silat Cekak เป็น 1 ใน 4 ของ Silat ที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย
4. Silat Lintau
5. Silat Kalimah
6. Silat kuntau Melayu
7. Silat Minangkabau
8. Silat Gayung Patani เกิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เติบโตในมาเลเซีย เป็น 1 ใน 4 ของ Silat ที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย
9. Silat Sendeng
10. Silat Sunting
11. Silat Abjad
12. Silat Gayang Malaysia เป็น 1 ใน 4 ของ Silat ที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย

ศิลปะการแสดง ดีเกร์ฮูลู หรือ ดีเกร์บารัต






ลิเกฮูลู
ลิเกฮูลู เป็นการละเล่นพื้นบ้านแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับความนิยมมากประเภทหนึ่ง คำว่า “ลิเก” หรือ “ดิเกร์” เป็นศัพท์เปอร์เซีย มีความหมาย ๒ ประการ คือ
๑. หมายถึง เพลงสวดสรรเสริญพระเจ้า ปกติการขับร้องเนื่องในเทศกาลวันกำเนิดพระนาบี ชาวมุสลิมเรียกงานเมาลิด เลยเรียกการสวดดังกล่าวนี้ว่า “ดิเกร์เมาลิด”
๒. หมายถึง กลอนเพลงโต้ตอบนิยมเล่นกันเป็นกลุ่มหรือเป็นคณะ เรียกว่า“ลิเกฮูลู”

ส่วนประกอบของคณะดีเกร์ฮูลูนั้น นอกจากประกอบด้วยเครื่องดนตรีต่างๆแล้ว ยังประกอบด้วยโต๊ะยอรอ (Tok Juara), ตูแกกาโร๊ะ (Tukang Karut) และลูกคณะของดีเกร์ฮูลู
วิธีการละเล่น ก่อนการแสดงลิเกฮูลูนั้น จะมีการร้องปันตนอีนัง ก่อน ตัวอย่างบทปันตนอินัง เช่น
กล่าวกันว่า เจ้าเมืองตานีสมัยอดีตมักเรียกคณะปันตนอินังที่มีชื่อเสียงเข้าไปแสดงในวัง โดยเฉพาะเนื่องในพิธีเข้าสุหนัดลูกชาย ต่อมาคณะปันตนอินังก็เปลี่ยนมาแสดงลิเกฮูลู ชาวบ้านมักเรียกการแสดงประเภทนี้แตกต่างกัน เช่น ที่กลันตันเรียก “ลิเกบารัต” หรือ “บาฆะ” (ลิเกตะวันตก) ส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียก “ลิเกฮูลู” (ลิเกเหนือ) ผู้เล่นลิเกฮูลูหลายท่านกล่าวถึงการฝึกว่า บางคนข้ามฝั่งไปเรียนที่กลันตัน โดยใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน สมัยโบราณไม่มีการฝึกหัดผู้หญิงเล่นลิเกฮูลู แต่สมัยนี้ดาราลิเกฮูลูหลายคนเป็นหญิง เช่น คณะเจ๊ะลีเมาะ ซึ่งมีลูกคู่เป็นหญิงล้วน และบางคนเป็นดาราโทรทัศน์อันเป็นยอดนิยมของมาเลเซีย ปัจจุบันลิเกฮูลูเป็นยอดนิยมของชาวมลายูมุสลิม นอกจากจะแสดงในงานมาแกปูโละ งานสุหนัต งานเมาลิด งานฮารีรายอแล้ว แม้แต่สถานีวิทยุในท้องถิ่นก็จัดรายการเสนอลิเกฮูลูและเป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้านทั่วไป
ดรเกร์ฮูลูนั้น แม้จะเกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สถานะทางสังคมนั้น กลับตรงกันข้าม เพราะในประเทศไทยดีเกร์ฮูลู มีสถานะเป็นเพียงศิลปะการแสดงท้องถิ่นเท่านั้น ส่วนในประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ศิลปะการแสดงนี้ได้กลายเป็นศิลปะการแสดงประจำชาติของเขา ยิ่งในประเทศสิงคโปร์แล้ว มีสหพันธ์ดีเกร์บารัตแห่งสิงคโปร์เป็นตัวหลัก มีการจัดทำเว็บไซต์ ประชาสัมพันธ์ศิลปะการแสดงนี้ จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป






มะโย่ง
มะโย่ง เป็นการแสดงเพื่อเฉลิมฉลองหรือเพื่อความรื่นเริง กำเนิดของมะโย่งมีผู้สันนิษฐานแตกต่างกันไปหลายกระแส ดังนี้
๑. มะโย่งเป็นการแสดงที่เกิดจากในวังของเมืองปัตตานี เป็นครั้งแรก เมื่อประมาณ ๔๐๐ ปี มาแล้ว จากนั้นแพร่หลายไปทางกลันตัน
๓. มะโย่งเป็นการแสดงที่ได้รับอิทธิพลมาจากชวาตั้งแต่ครั้งโบราณ แล้วเป็นที่นิยม แพร่หลายในหมู่ชาวไทยมุสลิมในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้อธิบายเพิ่มเติมโดยกล่าวถึงที่มาของคำว่ามะโย่ง คำว่า มะ หรือเมาะ แปลว่า แม่ ส่วนโย่ง หรือโยง เป็นพระนามของเจ้าหญิงพระองค์หนึ่งแห่งชวา จึงชวนให้สันนิษฐานต่อไปได้ว่า เหตุที่เรียกละครประเภทนี้ว่า มะโย่ง อาจเป็นตัวพระ จึงเรียกกันโดยใช้คำว่า มะ หรือ เมาะนำหน้าเครื่องดนตรี นิยมใช้กันอยู่ ๓ ชนิด คือ รือบะ จำนวน ๑ - ๒ คน กลองแขก ๓ หน้า จำนวน ๒ ใบ และฆ้องใหญ่เสียงทุ้มแหลมอย่างละใบ มะโย่งบางคณะยังมีเครื่องดนตรีอีก ๒ ชิ้น คือ กอเลาะ(กรับ) จำนวน ๑ คู่ และจือแระ จำนวน ๓ - ๔ อัน (จือแระ ทำด้วยไม้ไผ่ยาวประมาณ ๑๖–๑๘ นิ้วใช้ตี) ผู้แสดง มะโย่งคณะหนึ่ง ๆ มีคนประมาณ ๒๐ - ๓๐ คน เป็นลูกคู่เล่นดนตรี ๕ - ๗ คน นอกนั้นเป็นผู้แสดงและเป็นผู้ช่วยผู้แสดงบ้าง
ผู้แสดงหรือตัวละครสำคัญมี ๔ ตัว คือ

๑. ปะโย่ง หรือเปาะโย่ง แสดงเป็นพระเอก มีฐานะเป็นกษัตริย์หรือเจ้านาย ตัวปะโย่งจะใช้ผุ้หญิงร่างแบบบางหน้าตาสะสวย มีเสน่ห์ ขับกล่อมเก่ง น้ำเสียงดี เป็นผู้แสดง

๒.มะโย่งหรือเมาะโย่ง แสดงเป็นนางเอก มีฐานะเป็นเจ้าหญิงหรือสาวชาวบ้านธรรมดาตามแต่เนื้อเรื่องที่แสดง ใช้ผู้หญิงร่างแบบบาง หน้าตาดีเป็นผู้แสดง

๓. ปือรันมูดอ แสดงเป็นตัวตลกตัวที่ ๑ มีฐานะเสนาคนสนิทหรือคนใช้ใกล้ชิดของปะโย่งใช้ผู้ชายหน้าตาท่าทางน่าขบขันชวนหัว เป็นผู้แสดง ปือรันมูดอจะพูดจาตลกคะนอง สองแง่สองมุม ฉลาดทันคน กล้าหาญ แต่บางครั้งโงทึบและขลาดกลัวตาขาว

๔. ปือรันดูวอ แสดงเป็นตัวตลกตัวที่ ๒ มีฐานะเป็นเสนาคนสนิทตัวรองของเปาะโย่ง เป็นเพื่อสนิทของปือรันมูดอ จะเป็นตัวที่คอยสนับสนุนให้ปือรันมูดอสามารถตลกจี้เส้นได้มากขึ้น

โรงหรือเวทีแสดง ปัจจุบันโรงมะโย่งปลูกเป็นเพิงหมาแหงน ยกพื้นสูงประมาณ ๑ เมตร กว้าง ๕-๖ เมตร ยาว ๘ - ๑๐ เมตร จากท้ายโรงประมาณ ๑ - ๒ เมตร จะกั้นฝา ๓ ด้าน คือ ด้านท้ายกับด้านข้างทั้งสอง ด้านหน้าใช้ฉากปิดกั้นให้มีช่องออกหน้าโรงได้ เนื้อที่ด้านท้ายโรงใช้เป็นที่แต่งกายเก็บของและพักผ่อนนอนหลับ ด้านหน้าโรงเป็นโล่งทั้ง ๓ ด้าน จากพื้นถึงหลังคาด้านหน้าสูงประมาณ ๓.๕ เมตร ชายหลังด้านหน้านี้จะมีระบายป้ายชื่อคณะอย่างโรงลิเกหรือโนรา ส่วนใต้ถุนโรงใช้เป็นที่พักหลับนอนไปด้วย
โอกาสที่แสดง มะโย่งจะแสดงในงานเฉลิมฉลองงานเทศกาลหรืองานรื่นเริงอื่น ๆ ตามที่เจ้างานรับไปแสดง ปกติแสดงในเวลากลางคืนโดยเริ่มแสดงราว ๑๙ นาฬิกา เลิกเวลาประมาณ ๑ นาฬิกา